ค่า Bounce Rate ใช้วัดผลเว็บไซต์ได้อย่างไร ?

Bounce Rate คืออะไร?

ค่า Bounce Rate หรืออัตราตีกลับ คือ เปอร์เซ็นของผู้เข้าชมเว็บไซต์ของเรา ไม่ว่าหน้าใดก็ตามเพียง 1 หน้า แล้วผู้เข้าชมนั้นไม่ไปกระทำการหรือคลิกเพิ่มเติมกับหน้าอื่น ๆ หรือการกดปุ่ม Back กลับ หรือออกจากหน้าเว็บเราไปในทันที การกระทำนี้คิดเป็นเปอร์เซ็นเรียกว่า Bounce Rate

ยกตัวอย่าง นายสมคิดเข้าเว็บไซต์ sanook.com เพื่อเข้าไปอ่านบทข่าวดารา แล้วกดปิดเว็บไซต์ไป และเข้าเว็บอื่นต่อโดยไม่กดคลิกเพิ่มเติมที่เว็บ sanook.com การกระทำนี้เป็นการไปดันค่า Bounce Rate ของเว็บไซต์ แต่หากนายสมคิดเข้าเว็บ pantip.com แล้วอ่านบทความและคลิกต่อไปอ่านเรื่องอื่นต่อ ก็จะเป็นการลดค่า Bounce Rate ให้กับเว็บไซต์ ซึ่งค่าชี้วัดตรงนี้เป็นตัวกำหนดอย่างหนึ่งใน Google Analytics แสดงให้เห็นว่าคุณภาพเว็บไซต์ และเนื้อหาเรานั้นถูกใจผู้ใช้งานเพียงใด

Bounce Rate มีผลเสียต่อเว็บไซต์อย่างไร?

อัตรา Bounce Rate นั้นเหมือนเครื่องมือที่ใช้ตรวจสุขภาพของเว็บไซต์ของเรา หากค่ามีปริมาณต่ำ นั่นแปลว่าคนที่เข้ามาให้ความสนใจและมีปฏิสัมพันธ์กับเว็บเราค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็นการอ่านบทความ คลิกที่เมนูต่าง ๆ หรือการส่งต่อลิงค์ไปยังผู้อื่น ในทุกๆ หน้า

ส่วนค่า Rate ที่สูงลิ่วนั้น เป็นตัวบอกได้ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่า เว็บคุณกำลังสุขภาพไม่ดีเอามากๆ เพราะผู้ใช้งานเข้ามาแล้วปิดทิ้งโดยไม่ทันอ่านอะไรเลยด้วยซ้ำ และควรจะต้องปรับปรุงต่อไป

Bounce Rate เช็คได้ง่ายๆ

เราสามารถวัดค่า Bounce Rate ของเว็บไซต์ได้แบบฟรีๆ ด้วยเครื่องมือ Google Analytics เพียงแต่คุณต้องติดตั้งเครื่องมือนี้ที่เว็บไซต์คุณ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ Code HTML หรือใช้ตัวช่วยปลั๊กอินต่าง ๆ จากเว็บผู้ให้บริการตามถนัด

นอกจากนี้ Google Analytics ยังรายงานค่าอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับค่า Bounce Rate เช่น CTR, Pageview, ค่าผู้ใช้งานในประเทศต่างๆ อายุ สถานะของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเข้าจากมือถือ แท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เป็นตัวแปรที่เราจะนำมาใช้ปรับปรุงเว็บไซต์ได้ครับ

[wp_ad_camp_2]

เทคนิคลดค่า Bounce Rate

1. เพิ่มความเร็วเว็บไซต์

ปัญหาหลักของผู้ทำเว็บไซต์หลายคน คือ ทำเว็บสวยแต่การเข้าเว็บช้ามาก ธรรมชาติของผู้ใช้งานบนเว็บไซต์นั้น “ไม่ชอบรอ” ยิ่งเว็บคุณช้ามากเท่าไร โอกาสที่ผู้ใช้จะปิดก่อนได้เห็นเนื้อหาบนเว็บคุณยิ่งสูงมากเท่านั้น ค่า Bounce Rate จึงพุ่งสูงมากจากสิ่งนี้เป็นอันดับแรก เราสามารถเช็คความเร็วของเว็บเราได้ที่ https://developers.google.com/speed/pagespeed/insights/ โดยเครื่องมือนี้จะบอกครับว่าเราต้องปรับปรุงอะไรบ้าง

2. เนื้อหาเว็บไซต์ น่าติดตาม

เนื้อหาในเว็บคุณต้องดีและมีคุณภาพมากๆ หากเว็บไซต์หน้าแรกคุณเป็นแหล่งรวมเนื้อหาเด็ดๆ น่าสนใจแล้วละก็ สบายใจได้ครับว่าผู้ชมจะติดตามและกลับมาใช้งานต่อ ในทางตรงข้ามถ้าเว็บหน้าแรกคุณดูไม่น่าสนใจ หรือบทความดี แต่ภาพดูไม่น่าดึงดูดสายตา อาจต้องใช้หลักจิตวิทยาเข้าช่วยนะครับ อ่านเรื่องจิตวิทยาการจูงใจ บทความนี้อาจจะช่วยคุณได้

3. ออกแบบดีไซน์ให้ใช้งานง่าย

เทรนด์การออกแบบเว็บไซต์ หรือการสร้าง User Interface & User Experience เปลี่ยนไปตลอด กล่าวคือ การสร้างประสบการณ์การใช้งานของผู้ใช้โดยการออกแบบทั้งหน้าตา และฟังก์ชั่นการใช้งานที่ง่าย มีผลต่อผู้ใช้โดยตรง รวมถึงการวางโครงสร้างเว็บไซต์ ให้เป็นระเบียบจัดหมวดหมู่เรียบร้อย ง่ายต่อการค้นหาสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการมากที่สุด ไม่ใช่นั้นปุ่มปิดเบราว์เซอร์อาจเป็นปุ่มที่กดง่ายที่สุดของผู้ใช้งานก็เป็นได้

4. วางโฆษณาได้ แต่ต้องนึกถึงใจผู้เข้าชม

หลายคนทำเว็บแล้วเมื่อมีผู้เข้าชมมากจำนวนหนึ่ง ก็เลือกที่จะลงโฆษณา ไม่ว่าจะเป็นการลงโฆษณาแบบโดยตรงจากสปอนเซอร์ หรือลงทะเบียน Google Adsence เพื่อรับรายได้จาก google แต่ก็จำไว้เสมอว่า อย่าพยายามยัดเยียดโฆษณาให้กับผู้ใช้งานมากจนเกินไป เพราะโฆษณาบางชิ้นเขาพยายามกดปิด แต่มันก็เด้งไปที่ลิงค์โฆษณา ผู้ชมคุณอาจจะขยาดเว็บไซต์คุณไปเลยก็เป็นได้

5. Backlink ที่มีคุณภาพและมีความเชื่อมโยง

เราควรสร้าง backlink ให้ตรงกับจุดประสงค์ของเว็บไซต์เรา ไม่ว่าเราจะนำไปแปะกับเว็บบอร์ด หรือนำไปแปะเพจเฟสบุ๊กไหนก็ตาม เราควรหาปลายทางที่ตรงกันเช่น ถ้าเว็บเราเป็นสินค้าของเล่นเด็ก ก็ควรจะไปแปะในเว็บที่เป็นกลุ่มสนใจสิ่งของเกี่ยวกับแม่และเด็ก อย่าไปลงในเว็บพนันเชียวนา มันจะยิ่งทำให้ค่า Bounce Rate โดนดันทะลุสูงเป็นเงาตามตัว ซึ่งส่งผลเสียต่อเว็บไซต์

6. ต้อง Mobile Friendly รองรับหน้าจอมือถือ

กว่า 80% ของผู้ใช้งานเว็บไซต์อ่านเนื้อหาเราจากมือถือครับ ไม่มีใครไม่มีมือถืออีกต่อไป ทุกวันนี้เราดูมือถือมากกว่าทีวีเสียอีก เพราะฉะนั้นควรให้น้ำหนักการปรับแต่งเว็บบนหน้าจอมือถือให้ได้มากที่สุดเพื่อผลพลอยได้ที่เราจะได้รับอย่างสูงสุด ทั้งค่าโฆษณา ค่าการเข้าชมที่สูงขึ้น

สรุป : ค่า Bounce Rate คือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะมันช่วยยกระดับคุณภาพเว็บไซต์เรา หากสำรวจแล้วพบว่าค่านี้สูงลิ่ว ก็ควรต้องกลับมาเช็คอัพกันครับว่าเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ เมื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด เว็บไซต์ของเราก็จะกลายเป็นเว็บคุณภาพดีอีกเว็บหนึ่งบนโลกออนไลน์

[wp_ad_camp_1]

บทความน่าอ่าน

เจ้าของธุรกิจ Digital Asset | Creative Agency Partner ที่ปรึกษาให้กับธุรกิจ | Food Blogger & Photographer