วิเคราะห์ SWOT Analysis ธุรกิจร้านอาหารผ่านซีรีส์ยอดฮิตจากเกาหลี Itaewon Class
บทเรียนการตลาดจากซีรีส์ยอดฮิตจากเกาหลี Itaewon Class
ปิดเกมอย่างเมามันดูแล้วอาจเป็นมวยไม่ถูกคู่ แต่ฟัดกันแบบสุดฤทธิ์ ปล่อยหมัดอย่างเมามันให้คนดูมันตาม หากจะดูกันอย่างซีรีส์.. ก็คงต้องบอกว่าเรื่องนี้ถ่ายทอดความแค้นระหว่าง เด็กและผู้ใหญ่ ที่ไม่น่าจะมีอะไรเทียบกันได้เลย ระหว่างท่านประธานธุรกิจร้านอาหารอันดับหนึ่งของเกาหลีอย่าง Jangga Group ที่มีเฟรนส์ไชส์มากมาย ได้รับความนิยมและก้าวสู่อันดับ 1 ในเกาหลี ด้วยปัจจัยมากมายทั้งอุดมการณ์อันแรงกล้า ความกล้าได้กล้าเสีย หรือทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดที่ไม่มีขาดทุนอย่างแน่นอน จะว่าไปก็เป็นคนใหญ่คนโตในประเทศ ที่แทบจะถือครองความเป็นหนึ่งในด้านอาหาร ซึ่งทำให้ Jangga Group ร่ำรวยและมีหลายธุรกิจอยู่ในมือ แน่นอนว่า…เมื่อมีเงิน ก็มีอำนาจและบารมี ซึ่งไม่มีใครกล้าที่จะยุ่งเกี่ยว หรือต่อกร เพราะทุกสิ่งในโลกทุนนั้น…คลี่คลายได้ด้วยเงิน!
ด้วยเหตุผลใด…คนใหญ่คนโตเบอร์นั้น จึงลดตัวลงมาสู้กับ DamBam ร้านอาหารเล็ก ๆ ที่เรียกว่าไม่มีความซับซ้อนในธุรกิจหรือซ่อนเงื่อน แต่แฝงด้วยความแค้นเรื่องราวในครอบครัว และต้องการเอาคืนด้วยการโค่นคู่ต่อสู้ ด้วยวิธีการสร้างธุรกิจให้เป็นคู่แข่งและวาดฝันว่าจะผลัก Jangga Group ให้หล่นลงแทบเท้าให้จงได้
หากมองแบบผิวเผินสไตล์คนดูซีรีส์แล้ว ทุกอย่างก็ดูจะโอเว่อร์ บังเอิญและมีโชคชะตาแบบเหลือเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องไปเสียหมด ไม่ว่าจะมีนางเอกมาช่วยในหลายเรื่อง มีเพื่อนดีที่คอยดูแลการลงทุน แถมยังมีทีมดี ซี้ปึ๊กคอยเป็นเบื้องหลังแห่งความสำเร็จ เอาเป็นว่าหนังเรื่องนี้ ถ้าจะมองในมุมของการตลาดแล้ว…มันซ่อนกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้คนทำธุรกิจใช้เป็นใบเบิกทางในเบื้องต้นได้เลย
งัดกลยุทธ์จากซีรีส์
กลยุทธ์ (strategy) | Janga Group | DanBam |
---|---|---|
ความเป็นมา (History) | • เปิดมายาวนานกว่า 30 ปี โดยรุ่นพ่อร่วมทุนกับเพื่อนและมีพันธมิตรทางธุรกิจ เริ่มต้นจากร้านเล็กๆ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยเงินจากนักลงทุน ก่อนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และพัฒนาแตกขยายอีกหลากหลายธุรกิจ • เป็นบริษัทระดับมหาชน มีทีมงานหลักพันคน ผู้สร้างถือหุ้นมากที่สุดและมีสิทธิ์ในการตัดสินใจโดยผ่านมติผู้ถือหุ้น • ประธานบริษัทมีความสามารถในการทำอาหาร ความสามารถในการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างปราณีต สามารถรักษามาตรฐานของรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี และคิดสูตรเมนูใหม่สม่ำเสมอ • ทีมงานขนาดใหญ่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง และรับพนักงานที่มีความสามารถสูง จบการศึกษา บริหารอย่างมีหลักการด้วยประสบการณ์และความทันสมัย | • ร้านอาหารเล็กๆ โดยรุ่นลูกบุกเบิกร้านด้วยความต้องการเอาชนะ ด้วยความเด็ดเดี่ยว อดทน ถูกสร้างขึ้นจากเงินลงทุนในตลาดหุ้นที่มีพาร์ทเนอร์คอยดูแลจนมีเงินจำนวนมาก จากการเก็บเงินจากการทำงานหนัก • พนักงานในร้านทั้งหมด (รุ่นแรก) ไม่มีประวัติการทำงานร้านอาหาร • เจ้าของ (เถ้าแก่) มีนิสัยเด็ดเดี่ยว อดทน มั่นใจในตัวเองสูง มุ่งมั่น และมีความแค้นฝังในใจ ทำอาหารอร่อย (ถ่ายทอดจากผู้เป็นพ่อ) ที่เคยเป็นพนักงานคนสนิทของ Janga Group • ไม่มีความรู้ด้านการตลาดแม้แต่นิดเดียว แต่ใช้ความรู้สึกล้วนๆ |
วิสัยทัศน์ (Vision) | • เป้าหมาย คือ เป็นอันดับหนึ่งเท่านั้น | • เป้าหมายเดียว คือ โค่นล้ม Janga Group ด้วยการขึ้นเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจร้านอาหาร |
พันธกิจ (Mission) | • รักษามาตรฐานด้วยการคัดสรรทั้งวัตถุดิบ ซัพพลายเออร์ ตำแหน่งที่ตั้ง กลยุทธ์โปรโมชั่น บริการ ฯลฯ • ให้ทุกครั้งเมื่อหิวต้องนึกถึงอาหาร นึกถึง Janga Group ที่มีเมนูหลากหลาย | • บริการแบบเป็นกันเอง พัฒนาสูตรเมนูเฉพาะตัวของร้านตัวเอง |
เอกลักษณ์ (Identity) | • ร้านอาหารยอดฮิต ทานได้ทุกเพศ ทุกวัย • มีเมนูหลากหลาย • ทำเลอยู่ในย่านธุรกิจ และมีหลายสาขา | • ร้านเล็กๆ บรรยากาศอบอุ่น • เชฟชนะการแข่งทำอาหาร และชนะเชฟของ Janga Group |
ตำแหน่งทางธุรกิจ (Positioning) | • แบรนด์ระดับประเทศ หรูหรา (Luxyry) มาตรฐานสูง วัตถุดิบที่ถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดี มีความทันสมัย พนักงานมืออาชีพและจำนวนมาก | • แบรนด์ชุมชน (Local) น้องใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้จัก |
แนวคิด (Concept) | • มีอิทธิพลต่อการทานอาหารของประเทศ • วัตถุดิบดี คุณภาพสูง • เชฟต้องเป็นอันดับ 1 • มาตรฐานห้ามตก พัฒนาทักษะคนในองค์กร | • เป็นกันเองเหมือนได้ทานข้าวฝีมือคนในครอบครัว • วัตถุดิบ สด ใหม่ • ลูกค้าได้สนุกสนาน พบปะเพื่อนฝูง มีมุมถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย |
ภาพลักษณ์ (Image) | • แบรนด์ระดับประเทศ ที่มีความแข็งแกร่ง • มืออาชีพ • ประสบการณ์โชกโชน | • สูตรอาหารเอกลักษณ์จากเชฟของร้านที่ชนะการแข่งขันระดับประเทศ |
คู่แข่ง (Competitive) | • แข่งกับตัวเอง และแบรนด์ดังในท้องถิ่น | • Janga Group |
เริ่มเห็นภาพกันแล้วใช่ไหม หลายคนสังเกตเห็นแล้วว่าในความเป็นจริงนั้น เป็นไปได้ยากมากและแทบไม่มีโอกาสในการต่อสู้เลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว..จะเริ่มมีความรู้สึกบางอย่างขึ้นมา
วิเคราะห์หลัก SWOT ในเรื่องนี้
ทำความเข้าใจว่า SWOT คืออะไร ?
กลยุทธ์นี้ใช้เพื่อให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักคู่แข่ง เพื่อให้เรารู้ว่าอะไรคือจุดอ่อน จุดแข็งของเราในการหาโอกาสเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งและรู้ว่าอะไรคืออุปสรรคของธุรกิจของเราในแง่ของผู้บริโภค เพราะการตลาด การเลือกใช้กลยุทธ์นั้นจะมองเพียงด้านเดียวไม่ได้ ต้องวิเคราะห์ทั้งด้านธุรกิจและมุมของผู้บริโภค สภาพแวดล้อมภายนอกควบคู่กันไป ลักษณะคล้ายๆ การทำเช็คลิสส์ว่าเรามีหรือขาดอะไรไป และอะไรบ้างที่เราต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อม ซึ่งยิ่งเราคิดได้มากข้อ ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อการทำธุรกิจ
- S : Strengths : วิเคราะห์ จุดแข็งภายในของธุรกิจเรา จุดแข็ง | Benefit อะไรบ้างที่เหนือกว่าคู่แข่ง
- W : Weaknesses : วิเคราะห์ จุดอ่อนข้อบกพร่องปัญหาภายในของธุรกิจเรา พิจารณาว่าอะไรบ้างที่มีผลกระทบทำให้เกิดทัศนคติแง่ลบต่อธุรกิจ ซึ่งข้อนี้จะนำไปสู่วิธีแก้ไข วิธีรับมือ การวางแผนงานต่าง ๆ
- O : Opportunities : วิเคราะห์ โอกาสภายนอกธุรกิจที่มีผลประโยชน์ ผลกระทบต่อการเติบโต การพัฒนาธุรกิจ
- T : Threats : วิเคราะห์อุปสรรค์ ความเสี่ยง ข้อจำกัด ภายนอกที่อาจส่งผลเสียของธุรกิจของเรา
SWOT นำมาใช้อย่างไร
- กลยุทธ์เชิงรุก = S+O หมายความว่า เมื่อเรารู้ว่าเรามีจุดแข็งอะไร เราก็จะรู้ว่าเรามีโอกาสอย่างไร
- กลยุทธ์เชิงแก้ไข = W+O หมายความว่า เมื่อเรารู้ว่าเรามีจุดด้อยอะไร เราก็จะรู้ว่าปัญหานั้นลดโอกาสอะไรบ้าง ทีนี้เราก็จะได้ปรับปรุง แก้ไข รับมือได้ทันท่วงที
- กลยุทธ์เชิงป้องกัน = S+T หมายความว่า เมื่อเรารู้ถึงจุดแข็งของตัวเอง เราจะเห็นว่ามีอะไรที่เป็นข้อจำกัดของเราบ้าง จะเกิดอุปสรรคใดที่เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือต่อปัญหาเพื่อรีบแก้ไข ลดทอนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด
- กลยุทธ์เชิงรับ = W+T หมายความว่า เมื่อเรารู้ถึงข้อบกพร่องของเราแล้ว เราก็จะรู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงนำไปสู่แผนการตลาดได้อย่างดี
DanBam เป็นอย่างไรในเชิงธุรกิจ ทำความเข้าใจการเขียน SWOT
S: จุดแข็งภายใน | W: จุดอ่อนภายใน |
• เชฟชนะการประกวดของรายการแข่งขันทำอาหาร รวมถึงชนะเชฟจาก Janga Group • พนักงานมีความรักองค์กรและผู้บริหารมาก • ทีมงาน (นางเอกที่เป็นมือขวา) มีความเด็ดขาด ฉลาด และทันยุคสมัย • ปรับตัวรวดเร็ว โดยใช้กลยุทธ์การตลาดออนไลน์ในการสร้างภาพลักษณ์ และมีการทำแผนการใช้ Corporate Social Responsibility (CSR) ทำให้นักลงทุนเชื่อใจและยอมรับได้ • วัตถุดิบ สด ใหม่ | • มีเมนูเด่นไม่มาก • ขยายสาขาเร็วเกินไป บุคลากรไม่เพียงพอ • เถ้าแก่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ และการทำการตลาด • etc. |
O: โอกาสภายนอก | T: อุปสรรคภายนอก |
• แบรนด์น้องใหม่ไฟแรง • มีรางวัลการันตีความอร่อยของอาหาร • มีการใช้ social Media โปรโมทประชาสัมพันธ์ ทั้งสื่อ Online และ Offline ควบคู่กันไป • มีนักชิมมากมายต้องการเข้ามาชิม • อาหารธรรมดาที่รสชาติไม่ธรรมดา มีสูตรเฉพาะตัว | • โดน Janga Group ดักทุกทาง ทั้งซื้อตัวพนักงาน และล็อบบี้พันธมิตรทางธุรกิจ • เอกลักษณ์ยังไม่โดดเด่น • etc. |
- วิเคราะห์ S+O = เห็นชัดว่าลูกค้าที่เข้ามาทานอาหารที่ร้านนั้น (1) ต้องการชิมเพราะเห็นจากสื่อต่าง ๆ ทั้ง Online และ Offline รวมถึงเชฟยังมีรางวัลการันตี นี่จึงเป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ
- วิเคราะห์ W+O = การขยายธุรกิจเร็วเกินไป รวมทั้งยังมีเมนูเด่นไม่มาก เกิดปัญหาการขยายกิจการ ทำให้เมื่อต้องบริหารหลายสาขานั้น รสอาหารอาจไม่คงที่ มาตรฐานอาจลดลงได้ เพราะฉะนั้นนี่เป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจอาหาร รู้แบบนี้แล้วจึงต้องแก้ปัญหา อาจด้วยมีการฝึกอบรม พัฒนาสูตรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการคัดสรรวัตถุดิบที่ต้องเฟ้นหา พัฒธมิตร ซัพพลายเออร์อย่างหนักหน่วง
- วิเคราะห์ S+T = จะพบกว่าจุดแข็งที่มีนั้นโดนบล๊อคไว้หมดจากอันดับหนึ่งของประเทศ ผู้มีอิทธิพลในสังคม ถ้าอยากผ่านอุปสรรคนี้ไป เราจะทำอย่างไรได้บ้างและที่สำคัญจุดแข็งที่มีนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้บริหารเลยอันนี้จึงต้องเป็นแง่คิดต่อไป
- วิเคราะห์ W+T = พบว่าจุดอ่อนของ Danbam นั้นถึงจะวิเคราะห์ได้ไม่กี่ข้อ แต่ก็นับเป็นจุดอ่อนสำคัญเพราะการมาถึงจุดนี้ของ Danbam นั้นต้องยอมรับว่าเกิดจากการมีเพื่อนที่ดี มีมิตรที่ดี มีความซื่อสัตย์ ผสมกับความมุ่งมั่น ความเชื่อใจตัวเองและเพื่อนร่วมงาน ถ้าขาดคนใดคนหนึ่งไปนั้นอาจไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันได้นั่นเอง
เมื่อเข้าใจแล้ว..จะวางแผนอย่างไร ต้องรับมืออย่างไรบ้าง
เพื่อให้เห็นเป็นภาพ SWOT ของร้าน Danbam แห่ง Iteawon Class เพื่อช่วยให้คุณ ได้มองเห็นภาพและเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่เรามองว่าเป็นข้อดีของ “เถ้าแก่” นั่นก็คือ การเป็นหัวหน้าที่ดี ที่ทำให้พนักงานทุกคนซื่อสัตย์และจับมือมั่นไม่ยอมทิ้งเขาไปไหน เราขอเรียกว่า “ขวัญใจพนักงาน” หัวหน้าในฝันมาดูว่ามีอะไรบ้าง
ผู้นำที่ทีมต้องการ “เถ้าแก่” ขวัญใจพนักงาน
• มีความเชื่อใจและเชื่อมั่น
• มีความมุ่งมั่น อดทน ไม่ย่อท้อ
• ดูแลเหมือนคนในครอบครัว
• รับฟังและแก้ปัญหาไปพร้อมกัน
• เข้าใจพนักงานทุกคนอย่างใกล้ชิด
สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้นมีหลายอย่างและทุกสิ่งต้องสัมพันธ์กันหมด เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อยากประสบความสำเร็จอย่าเดินคนเดียว ต้องเดินไปด้วยกันทั้งทีม ความเชื่อมั่น ความมั่นใจและพร้อมใจ จะนำไปสู่ความสำเร็จ เรียกได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้…ไม่ใช่หนังที่จะทำให้เราหิวเพียงอย่างเดียว แต่จบแล้วก็อาจทำให้ใครหลายคนไฟลุกโชน มีแรงบันดาลใจในการทำการตลาดและทำธุรกิจอย่าง Danbam