เทคนิคหาเงิน สร้างรายได้เสริมจาก Digital Asset ให้มี Income แบบยั่งยืน
เรื่องจริง หรือโกหก
ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจ ในยุคโควิด-19 ที่ทุกธุรกิจต่างต้องพากัน “เอาตัวรอด” และอีกธุรกิจหนึ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักพัฒนาหรือ Developer ก็คือ การพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น แต่เดี๋ยวก่อนอ่านถึงตรงนี้ก็อย่าเพิ่งปิดหนีกัน พาลไปว่าถ้าเขียนโปรแกรมไม่เป็นแล้วจะสร้างรายได้เสริม หาเงินจากธุรกิจในสินทรัพย์ออนไลน์ Digital Asset ไม่ได้ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอกต่อไปนี้ คือ เรื่องจริง ไม่มี Fake News แน่นอน
ก่อนเล่าเรื่องทั้งหมดคงต้องถามให้แน่ใจ คุณรู้หรือไม่ว่า เว็บไซต์ บล็อก แอปพลิเคชั่นที่คุณใช้งานอยู่ บนโลก Social และอินเทอร์เน็ตมีมูลค่าสูงมากกว่า 10 – 100 ล้าน โดยบางบริษัทก็มากถึงหลักหมื่นล้านบาท
ผมจะขอยกตัวอย่างเว็บไซต์ในประเทศไทย เช่น thinkofliving.com เว็บไซต์ คอมมูนิตี้และเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ชื่อดังของไทย ถูกซื้อโดยบริษัท iProperty Group จากมาเลเซีย เป็นเงินสดกว่า 6 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (152 ล้านบาท) และหุ้น 50 ล้านบาท หรือจะเป็นอีกรายก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน pantip.com ซึ่งเคยติด Top 5 จากการจัดอันดับเว็บไซต์ของ Alexa มาแล้ว
ในต่างประเทศ Huffpost เว็บสำนักข่าวก็ถูก AOL เข้าซื้อในปี 2011 เป็นมูลค่ากว่า 315 ล้านเหรียฐสหรัฐ (10,000 กว่าล้านบาท) และนี่คือทรัพย์สินออนไลน์ หรือ Digital Asset ที่เหล่าเว็บไซต์ สามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของในแต่ละปี หรืออาจใช้เวลานานมากกว่า – น้อยกว่าก็เป็นไปได้ในยุคนี้ สิ่งเหล่านี้เรียกว่า Web Monetization (การสร้างรายได้จากเว็บไซต์)
Web Monetization คืออะไร
ที่จริง Web Monetization เป็นศัพท์ Online Business ความหมายคือการสร้าง Platform แล้วใช้ Platform นั้นเป็นเครื่องมือสร้างรายได้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น Starup ที่มี Model ธุรกิจจากการสร้าง Platform เพื่อหาเงินได้ โดยการสร้างจำนวน User ให้มากมายจนไปแตะหลักล้านราย แล้วสร้างรายได้จากเหล่าผู้ใช้งาน เช่น Shopee, Lazada ที่ให้ลงสินค้าโฆษณาฟรีก่อน แล้วค่อยเก็บค่า GD ในภายหลัง แต่ก็มีปัญหาบ้างว่า platform เหล่านี้ก็ต้องพึ่ง User และ Payer (หากมีแต่คนใช้แต่ไม่มีคนจ่ายเงินจะเกิดอะไรขึ้นคงจะเข้าใจกันดี) ดังนั้นเวลาทำ BMC (Business Model Canvas) ก็จะต้องเข้าใจในรายละเอียดของ Revenue Stream ในด้านของผู้ที่จะมาจ่ายเงินให้กับ Platform ไม่เช่นนั้นก็อาจจะล้มไม่เป็นท่า
กลับมาที่ Digital Asset
Digital Asset คือ สินทรัพย์ดิจิทัลบนโลกออนไลน์ กล่าวคือ สินทรัพย์ใด ๆ ที่มีมูลค่าแทน “เงิน” ได้ ในรูปแบบไฟล์ โปรแกรม เช่น รูปภาพ รูปวาด บทความ วีดีโอบนยูทูป ชื่อเว็บไซต์ หรือข้อมูลใด ๆ ของคุณที่สามารถแตกย่อยออกมาเป็นเนื้อหา หรือสิ่งที่ต้องการให้แก่ผู้อื่น แลกเปลี่ยนกับสิ่งที่มีมูลค่าเทียบเท่ากันได้ ดังนั้น เว็บไซต์ก็ถือว่าเป็น Digital Asset หรือเรียกว่าเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนของสินทรัพย์ดิจิทัล และข้อมูลก็ว่าได้
เว็บไซต์มีรายได้จากอะไรบ้าง
พาร์ทนี้เราคงพูดเรื่องของเว็บไซต์กันก่อน โดยเฉพาะการสร้างรายได้แบบ Intangible Asset คือ การหาเงินออนไลน์จากทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตน ไม่มีสินค้าทางกายภาพตามกำหนดในกฎหมายทางการเงิน เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สัมปทาน เป็นต้น ซึ่งรายได้เหล่านี้มักอยู่บนสินทรัพย์ประเภทเว็บไซต์ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1. หาเงินจากค่าโฆษณา – แบ่งเป็น 3 หมวดย่อย
• หาเงินค่าโฆษณาจาก Banner Ad หรือป้ายโฆษณาที่ติดประจำเว็บไซต์ ภายในตำแหน่งต่าง ๆ ราคาก็จะแตกต่างกันไปตามตำแหน่ง เช่น บนสุดที่เห็นในหน้าแรกของเว็บไซต์ อาจจะมีราคาสูงสุด ด้านข้าง ตรงกลางส่วนของ body เว็บไซต์ และด้านล่างสุดที่มีเมนูด้านท้ายเรียกว่า Footer ค่าโฆษณาเหล่านี้ เว็บไซต์ที่มีชื่อเสียง ก็อาจจะคิดราคาสูงขึ้นอยู่กับยอดจำนวนผู้เข้าชมของเว็บไซต์นั้นๆ คิดเป็นรายเดือน รายปี
• หาเงินค่าโฆษณาจาก Sponsored Content หรือจากผู้สนับสนุน ให้เจ้าของเว็บไซต์ ผลิตคอนเทนต์ บทความ ข้อมูล อินโฟกราฟิก หรือวีดีโอ ลงบนเว็บไซต์ โดยคอนเทนต์จะมีผู้เข้าชมเยอะมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอของผู้สนับสนุน หรืออาจให้ทางเจ้าของเป็นผู้สร้างให้ (Creator) ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละราย และข้อตกลง
ประมาณรายได้คร่าว ๆ จากประสบการณ์ผู้เขียน เปรียบเทียบกับยอดเข้าชม 100,000 – 200,000 visitor ต่อเดือนอาจจะเริ่มกันที่ 30,000.- ขึ้นไปต่อคอนเทนต์ บทความ หรือวีดีโอก็ได้
• หาเงินค่าโฆษณาจาก Display Advertising Network เป็นระบบป้ายโฆษณาอัตโนมัติ จากผู้ให้บริการรายใหญ่ที่เรารู้จักกันดี เช่น Google, Youtube และเครือข่ายพันธมิตร ข้อดีของโฆษณาแบบนี้ คือ เป็นระบบจ่ายและโชว์ป้ายขึ้นอัตโนมัติ ไม่ต้องทำข้อตกลงใดๆ หรือเจรจา เพียงแต่ทำตามข้อตกลงเงื่อนไขไม่ให้ผิดนโยบายการลงโฆษณาจากทาง Google เท่านั้นฝ่ายเดียว หน้าที่คุณคือ ผลิตคอนเทนต์ต่างๆ ป้อนเข้าเว็บไซต์คุณก็เพียงพอจะสร้างรายได้แล้ว
2. หาเงินค่าโฆษณา แบบนายหน้า (Affiliate Marketing)
หน้าที่ของคุณที่ทำให้เกิดรายได้จากวิธีการนี้ คือ เขียนคอนเทนต์ บทความเกี่ยวกับสินค้า เช่น รีวิว เขียนวิธีการใช้งาน How-to รีวิวจริงจากการใช้งานผลิตภัณฑ์ ตรวจสินค้าเช็กสเป็ค และแปะลิงค์ที่เจ้าของสินค้าขายจากเว็บไซต์ต้นฉบับ หน้าที่คุณก็คือ เป็นนายหน้า หรือตัวแทนขายนั่นเอง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าที่ซื้อสินค้านั้นมาจากคุณ ง่ายมากเลยครับ เพราะผู้ค้าจะมีการทำ Affiliate ID เพื่อทำการ Tracking ติดตามว่าหากสินค้านั้นซื้อขายสำเร็จ คุณจะได้ค่านายหน้าแบบจับเสือมือเปล่าเลย!!
ประมาณรายได้จากสินค้าทั้วไป เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ต่างๆ อาจมีค่าจ้างที่ 1-10% หรือถ้าเป็นสินค้าที่มีมูลค่าแบบสัญญา ขายลิขสิทธิ์ เช่น ประกัน โบรกเกอร์ลงทุน เช่าโฮสเว็บไซต์ อาจมีค่านายหน้าที่ 20-50% ขึ้นไป
ข้อดีของรายได้แบบนี้ คือ หากคุณวางแผนการทำเว็บคอนเทนต์มาดีมาก ๆ ทำให้เว็บติด google search engine จากคำค้นที่คาดว่าลูกค้าจะค้นหาสินค้านั้น รายได้จาก Affiliate Marketing จะสร้างรายได้ให้คุณเป็นกอปเป็นกำได้มาก นับเป็น Passive Income ที่มั่นคงในระยะยาว
3. มูลค่าเว็บไซต์ และโดเมนเนม
หากเว็บคุณพัฒนาและเติบโตจนมีคอนเทนต์คุณภาพจำนวนมาก และมีผู้เข้าใช้เป็นหลักหลายล้านต่อเดือน มีรายได้ที่มั่นคงเอามากๆ แล้ว และมีรายชื่อลูกค้า ผู้ใช้งานที่ติดตามหรือ User เป็นจำนวนมาก เว็บไซต์คุณก็พร้อมที่จะเป็น Digital Asset ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมาก (รวมถึงมูลค่าในอนาคต) จนดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาซื้อเว็บไซต์หรือสินทรัพย์ออนไลน์ของคุณ ก็จะหาเงินได้เป็นหลักสิบล้านก็เป็นได้
ทำไมนักลงทุนจึงสนใจ เหตุผลง่ายๆ คือ เพราะเว็บไซต์คุณมีมูลค่าและคุณสมบัติตรงกับความต้องการของเขา เช่น เว็บสำนักข่าว ก็นำไปลงโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจได้ เว็บชุมชน ก็สามารถดึงผู้ติดตามมาเป็นลูกค้าของสินค้าให้กับนักลงทุนคนนั้นได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
นักลงทุนมักจะไม่สร้างโมเดลเหล่านี้ขึ้นมากเอง เหตุผลหลักคือ “เสียเวลา” เพราะเขาได้ใช้เงินซื้อเวลาที่คุณได้ลงทุนลงแรง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากคุณมีโมเดลที่มั่นคงและแข็งแกร่ง ก็จะดีกว่าการนำเงินไปสร้างโมเดลใหม่ ซึ่งคุณก็สามารถตีมูลค่า การลงทุนของคุณเอง ที่เป็นฝีมือและเวลา บวกกับมูลค่าในอนาคต ให้เปลี่ยนเป็นเงินกลับมาได้หลายสิบล้านหรือ 100 ล้าน ก็ย่อมได้
คุณอาจสนใจบทความเหล่านี้
เว็บไซต์ 10 อันดับที่มีค่ามากที่สุดในโลก
การสร้างคอนเทนต์แบบยืนยาว
Related Post