ในชีวิตเรา..ยากที่สุดคือการทำความรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ชอบอะไร สนใจอะไร อะไรเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข
“ปัจจุบันหลายคนยังใช้ชีวิตแบบคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการ copy ชีวิต หรือได้ Inspiration มาก็ตาม แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งกลับเพิ่งรู้ตัวว่านั่นไม่ใช่ “เรา” ก็อาจจะสายไปแล้ว“
ก่อนเข้าเรื่อง Business Model Canvas อยากให้สังเกตตัวเองแล้วตอบคำถาม
- ตอนเด็กอยากเป็นอะไร
- หากคุณเรียนสาขาอยู่ คุณเรียนคณะนี้ทำไม
- คุณมีข้อดี ข้อเสียอะไร
- อะไรคือสิ่งที่กลัวมากที่สุด
- ไอดอลที่คุณชื่นชอบคือใคร..ชอบเพราะอะไร
- ในอีก 10 ปีข้างหน้า คุณกำลังทำอะไร
- วันที่มีความสุข มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เป็นวันที่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
- อะไรที่คุณภูมิใจในตัวเองมากที่สุด
- เพลงโปรดหรือหนังสือที่ชอบที่สุดคืออะไร
- เคยเบื่อที่ต้องตื่นตอนเช้าเพื่อไปทำงานรึปล่าว
- นิยามคำว่า “Safe Zone” ของคุณ เป็นแบบไหน
ถ้าคุณตอบได้ทั้งหมดนี้ แสดงว่าคุณก็มีความรู้จักตัวเองมากพอสมควร แต่ถ้าไม่.. อาจจะยากสักหน่อยสำหรับการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง ครั้งนี้เราอยากให้คุณทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ให้ลึกลงไปถึงแก่นรากเลยได้ยิ่งดี
ซึ่งนั่นหมายความว่า ยิ่งคุณรู้จักตัวเองมากเท่าไหร่ การลงทุนของคุณจะยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
“นักเรียนนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี เข้าขั้นหัวกะทิ แต่กลับไม่มีความสุขกับวิชาที่เรียนและไม่มีเป้าหมายในชีวิต”
บิล เบอร์เนตต์และเดฟ อีวานส์ (Bill Burnett, Dave Evans) ได้คิดค้นและพัฒนาหลักสูตร Designing your life เพื่อให้ค้นพบตัวเองและมีความสุขในชีวิต
“รู้จักตัวเอง” แล้วจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร
แน่นอนว่าเมื่อคุณรู้แล้วว่าคุณเป็นคนแบบไหน ขาดอะไร ควรเสริมอะไร อะไรคือสิ่งที่คุณทำแล้วมีความสุขที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเชื่อมโยงสู่การเลือกทำงานและการลงทุนต่าง ๆ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ถ้าคุณฝืนทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง คุณไม่ได้รักมัน โอกาสที่จะทำพังมีสูงมาก
ตัวอย่างเช่น..ช่วงนี้เทรนด์การลงทุนสินค้าในกลุ่ม Beauty มาแรงมาก สร้างรายได้ให้ผู้ลงทุนได้เป็นกอบเป็นกำ คุณจึงเลือกที่จะลงทุนกับสิ่งเหล่านี้.. แต่แล้วทำไมคุณกลับพังไม่เป็นท่า นั่นเพราะคุณไม่มี Insight คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเครื่องสำอางที่ดีเป็นแบบไหน? แล้วเครื่องสำอางไม่ดีเป็นอย่างไร?
คุณเห็นว่าผลิตภัณฑ์อะไรก็ได้ที่ใช้แล้ว ขาว! ขายดีมาก คุณก็ลงตัวนั้นไปเลย หรือไปทำการบ้านมาแล้ว จากการฟังความเห็นของคนอื่น ที่เขาเคยทำแล้วดี.. แค่นี้ก็มองเห็นอนาคตแล้วว่า ไปรอดได้ไม่นาน
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
เราไม่ได้ใจร้ายหรือหยามเหยียดความตั้งใจ ความมุ่งมั่นของคุณ นี่คือความจริงที่นักลงทุนหลาย ๆ คนกำลังฝืนทำ แล้วไปต่อไม่ได้ จงอย่าลืมว่า..ผลิตภัณฑ์นั้น ต่อให้อยู่ในกระแส สร้างรายได้ให้ (คนอื่น) มากแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่ได้รัก ไม่มีความรู้ คุณต้องเสียเวลามากกว่าคนอื่น ต้องใช้ความพยายามมากกว่า แถมยังเป็นการฝืนตัวตนเพราะคุณไม่ได้รัก
คุณจึงต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ ความทันเทรนด์และทันต่อโอกาสต่าง ๆ จะทำให้ก้าวได้ช้ากว่าคนอื่นหรือก้าวไม่ออกเลยด้วยซ้ำและคุณรู้มั้ย…สมมติว่า คุณลงทุนกับสิ่งนี้ไป 1 แสนบาท คุณอาจจะทิ้งเงินนั้นให้สูญเปล่า แล้วได้แต่นอนก่ายหน้าผากเพราะคุณทำตามคนอื่นทุกอย่างแม้แต่แผนการตลาด แต่ผลที่ได้กลับไม่เป็นเหมือนเขานั่นเอง
ผลิตภัณฑ์ทุกอย่าง ธุรกิจทุกสิ่ง เราอยากแนะนำให้คุณเลือกในสิ่งที่คุณชอบ! เพราะมันจะต้องอยู่กับคุณไปยาวนาน ก็จนกว่าคุณจะเลิกทำนั่นแหล่ะ เพราะเมื่อคุณลงทุนไปแล้ว คุณจะต้องค้นหาข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ศึกษาสินค้า ตามเทรนด์ใหม่ ๆ สังเกตส่วนผสม ไหนจะหาซัพพลายเออร์ ดีลโรงงานการผลิต ไหนจะต้องมีดีไซน์คอนเทนต์ ต้องทำโฆษณา ศึกษาการตลาด มันเกือบ 24 ชม. เลยเชียวล่ะ ที่ต้องจมปรักไปกับธุรกิจ ซึ่งถ้าเป็นสิ่งที่คุณรัก.. คุณจะไม่เหนื่อยเลย คุณจะยิ่งมีความสุขและทวีคูณยิ่งขึ้นเมื่อสินค้าของคุณ “สร้างผลกำไร”
Design Thinking
การมี Design Thinking หรือกระบวนการคิดอย่างมีระบบ ซึ่งเราจะพาคุณไปสู่ขั้นตอนการทำความรู้จักธุรกิจของคุณให้มากยิ่งขึ้น ที่ช่วยให้เรารู้จักปัญหาและแก้ปัญหาด้วยการเข้าใจถึงรากแก่น ด้วยการวิเคราะห์จากข้อมูลทั้งหมดที่มี ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การออกแบบ ที่สำคัญต้องมีการทดสอบไม่ใช่เอาฉันชอบ เธอชอบอย่างเดียว จะขายของทำธุรกิจมันต้องตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย!
ซึ่งต้องบอกเลยว่าเรื่องธุรกิจกับงานออกแบบควรสอดคล้องกัน ลองหลับตาแล้ววิเคราะห์ดูว่า การที่คุณยอมเสียเงินให้สินค้าสักชิ้น อันดับแรกคืออะไร ถ้าไม่ใช่ดีไซน์อันถูกจริตกับเราเราขอเรียกว่า Design Thinking ที่ช่วยเติมเต็มเสน่ห์แบรนด์ หรือเรียกรัก กวักลูกค้าก็แล้วกัน
หลายคนมักเข้าใจว่า การขายของเป็นการเอาตัวตนของเราไปให้เขาเลือก.. ไม่ถือว่าผิด แต่เราจะขายตัวตนของเราอย่างไร “ให้เขาเลือกแล้วเขารัก” สิ่งนี้มันมีกระบวนการของมัน โดยอาศัยกลยุทธ์หลากหลาย มัดใจลูกค้า ถึงใจกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ทำได้ไม่ยากนัก
เมื่อเรารู้จักตัวเราแล้ว มีกระบวนการความคิดในการกำหนดทิศทางของธุรกิจของเราแล้ว ทีนี้ก็ลองมาทำความเข้าใจ ทำความรู้จักกับ “ธุรกิจของเรา” ซึ่งหลักเบื้องต้นที่ส่วนใหญ่นิยมใช้กัน ก็จะอยู่ในรูปแบบ การวิเคราะห์ SWOT นั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการหา จุดแข็ง จุดอ่อนและโอกาสเติบโตทางธุรกิจ
เพื่อให้เราหากลยุทธ์ที่เหนือชั้นกว่าสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ แต่การที่เราจะรู้จักธุรกิจของเราจำเป็นต้องรู้ลึก รู้จริงมากไปกว่านั้น
Bunsiness Model Canvas
ขอเล่าให้เห็นภาพด้วยการใช้ Business Model Canvas เครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ธุรกิจ ที่ออกแบบโดย Alexander Osterwalder เขาได้สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยให้เรารู้จัก เข้าใจเห็นภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจเราอย่างไม่เข้าข้างตัวเอง ในทุกปัจจัย ให้เรามีเป้าหมายชัดเจนมากขึ้นและเป็นไปได้ ให้เรารู้ว่าอะไรที่เราขาดไป และควรต้องหาอะไรมาเป็นตัวเสริม
แน่นอนว่า การทำธุรกิจหากเรามีรากฐานที่มั่นคงจะช่วยให้เราไปสู่เป้าหมายได้อย่างแข็งแกร่ง มีระบบและง่ายมากยิ่งขึ้น หลายธุรกิจมีวิชั่น (Vision) แต่ไปไม่ถึง สาเหตุหนึ่งเพราะหาเหตุผลแล้วทำอย่างไม่มีระบบแบบแผนนั่นเอง เราอยากแนะนำให้นักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการทั้งรายย่อย รายใหญ่ กางกระดาษแผ่นนี้ แล้วเริ่มวิเคราะห์กันเลย
Business Model Canvas ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
- Value Propositions (คุณค่าของธุรกิจ)
- Customer Segment (กลุ่ม ระดับของลูกค้า)
- Customer Relationships (สายสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า)
- Channels (ช่องทางการเข้าถึง)
- Key Activities (ปัจจัยที่ต้องมีในธุรกิจ)
- Key Partners (พันธมิตรหลักของเราเป็นใครบ้าง)
- Key Resource (ทรัพยากรอะไรบ้างที่จำเป็นต้องธุรกิจของเรา)
- Cost Structure (ค่าใช้จ่ายของธุรกิจ)
- Revenue Streams (รายได้ของเรามีอะไรบ้าง จากไหน)
ดาวน์โหลดตาราง Buiness Model แล้วเริ่มทำการวิเคราะห์ธุรกิจ
1. Value Propositions (คุณค่าของธุรกิจ)
การเฟ้นหาคุณค่าของธุรกิจของคุณ และคุณค่าที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ Demand | Supply สอดคล้องกันไปในทิศทางไหนในส่วนนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าเราอยู่ในตำแหน่งไหน ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณขายสินค้าที่ราคาค่อนข้างสูง คือ กระเป๋าหนังแท้ แน่นอนว่าราคาต่อชิ้นคงไม่ใช่แค่ 199.- บางชิ้นอาจอยู่ในเกณฑ์ราคาหลักพันหรือหลักหมื่นขึ้นอยู่กับวัสดุ ความปราณีตและต้นทุนต่าง ๆ เพราะแบบนี้สินค้าของคุณควรเป็นใครมาซื้อ?
2. Customer Segment (กลุ่มระดับของลูกค้า)
กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้เพียงเดือนละหมื่น 5 หรือมีรายได้ขั้นต่ำต่อวัน คงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของคุณแล้วล่ะ จริงมั้ย…นี่เป็นสิ่งที่คุณต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ ค้นคว้า (Reserch) ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูล (Data) ทั้งหมดที่มี หรือลงทุนลงแรงในการทำการค้นคว้าใหม่
3. Customer Relationships (สายสัมพันธ์ระหว่างลูกค้า)
สิ่งนี้คือสิ่งที่เหนียวแน่นที่สุดที่จำเป็นต้องมี ให้ลองมองภาพในแบบง่าย ๆ เราเชื่อว่าคุณมีเพื่อนในวันเด็ก ไม่ว่าจะตอนประถมหรือมัธยม.. อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 50 คน ปัจจุบันเพื่อนร่วมห้องยังได้พบปะพูดคุยกันอยู่หรือไม่ จำนวนเท่าเดิมมั้ย คุณมีอะไรบ้างที่จะติดต่อเขาได้บ้าง
เพื่อนสนิท คือ Brand Loyalty หากคุณบอกว่า คุณได้คัดกรองเพื่อนที่มีแนวคิดเดียวกัน และยังคงความสัมพันธ์อยู่จนถึงปัจจุบัน แปลว่า..คุณได้มาถูกทางหัวใจหลักของ Customer Relationships แล้ว
ถ้าคุณบอกว่า.. คุณไม่เหลือเพื่อนสมัยประถมหรือมัธยมเหลืออีกแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร เราจะบอกว่า.. นี่เป็นปัญหาหนึ่งในการทำธุรกิจ เพราะคุณรู้หรือไม่ว่ากว่าคุณจะได้เป็นเพื่อนกับคน ๆ หนึ่งที่เขาเปิดใจ ให้เบอร์ ให้คุณไปหาที่บ้าน ได้ใช้เวลาร่วมกัน ไม่ว่าจะเที่ยว ทำการบ้าน รายงาน หรือแชร์ประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งรอยยิ้มและเสียหัวเราะนั้น ไม่ง่ายเลยใช่มั้ย.. แล้วตอนนี้เพื่อนกลุ่มนั้นกลับหายไปหรือเหลือน้อยลงนั้นเพราะอะไร
ธุรกิจของคุณมีไว้เพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีความชื่นชอบ ต้องการ ได้ใช้และเมื่อเขาได้ใช้ คุณก็อยากคงระดับความสัมพันธ์และทำให้มัน “แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” หมายความว่า เมื่อลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายได้ทดลองใช้สินค้าหรือบริการของคุณแล้ว.. คุณก็อยากให้เขากลับมาใช้ต่อเป็นลูกค้าประจำหรือที่เขา เรียกว่า ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty)
เพราะเมื่อเขาชื่นชอบคุณ เขาจะบอกต่อ เล่าต่อและกระทำใด ๆ ที่เป็นการเชิญชวนเพื่อนหรือคนในครอบครัวของเขามาเป็นลูกค้าของคุณต่อด้วยความยินดีและเต็มใจ หมายความว่าธุรกิจของคุณมีคนต้องการ และขยายกลุ่มเพิ่มขึ้น..เห็นความเติบโตแล้วใช่ไหม?
ส่วนการรักษาระดับความสัมพันธ์คุณแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่หมั่นติดต่ออย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละ 1- 2 ครั้ง ถามสารทุกข์สุขดิบ แชร์ประสบการณ์หรือทิปส์เด็ด ๆ หรือแชร์เรื่องราวดี ๆ ด้วยความจริงใจ ให้คุณภาพเป็นกันเอง ที่สำคัญอย่าทำร้ายความรู้สึกที่เขามีด้วยการลดทอนคุณภาพ หรือการโฆษณาเกินจริง รวมถึงการรบกวนเขามากจนเกินไป จุดนี้…ให้คิดไปถึงว่า คุณปฏิบัติกับเพื่อนรักยังไงให้ปฏิบัติต่อลูกค้าแบบนั้น และต้องเป็นไปด้วยความสุภาพอยู่ในกรอบแห่งความพอดี
4. Channels (ช่องทางการเข้าถึง)
คุณกระจายธุรกิจของคุณทางไหนบ้าง ? ข้อนี้อยากให้คุณระบุมาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นตัวแทน ช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์หรือใด ๆ ก็ตามที่คุณพึงจะกระทำ เพื่อวิเคราะห์ต่อว่าส่วนไหนที่ขาดไป เช่น ถ้ามีหน้าร้านคุณควรระบุอย่างละเอียดว่าเดินทางอย่างไร มีที่จอดรถกี่คัน หากมีสาขาหรือตัวแทนจำหน่าย ระบุมาทั้งหมดไปเลยว่าอยู่ในพื้นที่ใดบ้างและมีขีดจำกัดในการรับลูกค้าอย่างไร หรือเว็บไซต์ ให้ทำการการบ้านจัดหนัก
เพราะปัจจุบันมีเว็บไซด์หลายประเภท ทั้งในรูปแบบให้ข้อมูลอย่างเดียว หรือเป็น E-commerce ซึ่งในส่วนนี้คุณจำเป็นต้องรู้ถึงขีดจำกัดของเว็บไซต์ด้วยล่ะ ทั้งขนาดทั้งหมดของเว็บไซต์ ข้อจำกัดในการเข้าเยี่ยมชม ภาษาที่ใช้หรือโปรแกรมสำเร็จรูปแบบใด เพราะเมื่อคุณต้องการพัฒนาหรือปรับปรุงจะทำได้ง่ายและคุณจะสามารถกำหนดความต้องการได้มากยิ่งขึ้น
เริ่มรู้จักธุรกิจตัวเองมากขึ้นแล้วใช่มั้ย ตอนนี้แหล่ะคุณก็จะยิ่งรู้ลึก รู้จริงมากเข้าไปอีก เพราะทั้ง 3 ส่วนต่อไปนี้จะบอกว่า อะไรที่คุณขาดไปและต้องปรับปรุงอะไรเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่ออย่างราบรื่น
5. Key Activities (ปัจจัยที่ต้องมีในธุรกิจ)
เรียกว่าเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว… ทั้งซัพพลายเออร์ โรงงานการผลิต การจัดการเรื่องขนส่ง โกดังสินค้า ระบบการจัดการธุรกิจของคุณ ฯลฯ เรียงลำดับค่อย ๆ ไล่ไปทีละอย่างแล้วคุณจะเห็นภาพว่าคุณขาดสิ่งใด
6. Key Partners (พันธมิตรหลักของเราเป็นใคร)
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ในแง่ของโลกธุรกิจคุณจะ Lonely ไม่ได้! เส้นสาย สายป่าน คอนเนคชั่นใด ๆ ที่คุณพึงมี ควักออกมาให้สิ้นอย่าได้หมกไว้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว หรือคนรู้จักที่คุณสามารถดีลทางธุรกิจได้ คุณจำเป็นต้องมี
ตัวอย่างเช่น คุณขายสินค้าจำพวกแม่และเด็ก แม้ว่าจะขายในสื่อออนไลน์อย่างเดียวก็ขายดีอยู่แล้ว แต่รู้อะไรมั้ย..หากคุณมีคอนเนคชั่นที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือเป็นหมอ ยิ่งทำให้ธุรกิจเติบโตได้ง่ายขึ้น ด้วยการติดต่อนำสินค้าของคุณกระจายสู่โรงพยาบาล ให้คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายได้รู้จักและเปิดใจธุรกิจของคุณ มันจะง่ายมากขึ้นเลยล่ะ สินค้ากลุ่มแม่และเด็ก จำเป็นต้องมีคุณภาพมาก ๆ เพราะอยู่ในกลุ่มเซนซิทีฟ ทั้งบอบบางและแพ้ง่าย ถ้าสินค้าของคุณมีคุณภาพที่ดี ใช้แล้วเกิดผลลัพธ์ที่ดี มันจะถูกกระจายออกไป ปากต่อปากอย่างรวดเร็วและตรงกลุ่มมาก ๆ
3 ส่วนสุดท้าย..เป็นเรื่องภายในที่จะไม่รู้ไม่ได้โดยเด็ดขาด เมื่อคุณกางทุกสิ่งอย่างออกมาให้หมดแล้วลิสต์ออกมาแม้แต่ พนักงาน ผู้ช่วยนั้นมีใครบ้าง ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ต้นทุนต่อเดือน ต่อปี ส่วนนี้เราคงไม่ต้องแจกแจงแต่การที่ทำทั้งหมดนี้ จะทำให้รู้ได้ว่า มีส่วนงานไหนที่คุณต้องรีบหาเข้ามาเสริม หรือมีรายจ่ายอะไรที่ทับซ้อนกันอยู่ รวมถึงเศรษฐกิจการเงินของธุรกิจคุณเป็นแบบไหน มีแนวโน้มเป็นอย่างไร ส่วนนี้จะเป็นสะพานก้าวไปสู่ขั้นต่อไป
7. Key Resource (ทรัพยากรอะไรบ้างที่จำเป็นต้องธุรกิจ)
ทรัพยากรในที่นี้หมายถึง คน เครื่องจักร เงินทุนหมุนเวียน ลิขสิทธิ์ต่าง ๆ สถานที่ประกอบการณ์ สิ่งนี้ควรแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ทรัพยากรที่เรามี และทรัพยากรที่จำเป็นจะต้องมี การหาว่าทรัพยากรอะไรบ้างที่เป็นของเรา เราควรมองย้อนกลับไปดูว่าลูกค้าเราคือใคร เราเสนออะไรให้แก่ลูกค้า และทรัพยากรนั้นสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจอะไรได้บ้าง
8. Cost Structure (ค่าใช้จ่ายของธุรกิจ)
ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ พูดง่ายๆ คือ ต้นทุนจะมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ ต้นทุนเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และต้นทุนเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่ธุรกิจ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสึกหรอ ค่าเช่าสำนักงาน และส่วนที่ 2 ค่าเช่าพื้นที่โฆษณา ค่าเช่าพื้นที่สินค้า ค่าลงข่าวตาม social media หรือสื่อหลักทั่วไป
9. Revenue Streams (รายได้ของเรามีอะไรบ้าง)
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด คือ ช่องทางรายได้ของเราจะเข้ามามีอะไรบ้าง เช่น ค่าบริการรายเดือน การขายสินค้า รายได้จากค่าเช่า หรือว่าธุรกิจคุณอาจจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โปรแกรม รูปภาพ ตัวหนังสือ ก็นับเป็นรายได้ทั้งสิ้น และมองลึกเข้าไปอีกว่า คุณได้มาในรูปแบบใด ผ่อนชำระ เงินสด หรือวางเช็ค ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องผสานกันอย่างไม่ติดขัดและเชื่อมโยงเป็นอย่างดี
สรุป : Business Model Canvas เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้คุณรู้จักตัวธุรกิจของคุณมากยิ่งขึ้น ยิ่งรู้จัก ก็จะยิ่งเติบโต ซึ่งเราก็หวังว่า จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน และสามารถนำไปใช้ต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง : Business Model Canvas, www.strategyzer.com